ในสัปดาห์ที่ ๒ รู้สึกว่าตัวเองเริ่มปรับตัวได้แล้ว เริ่มเข้าใจระบบการทำงานของครูมัธยมรวมถึงระบบการทำงานของโรงเรียน ซึ่งการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุดดังนั้นคนเราควรที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ได้เรียนรู้และสิ่งที่งอกงามและสิ่งที่เป็นปัญหาในสัปดาห์นี้มีดังนี้
สิ่งที่ได้เรียนรู้ ผมได้มีโอกาสไปสังเกตการสอนจิตศึกษาของระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ได้สังเกตครูเส็ง สอนรำกระบอง เป็นการทำจิตศึกษาอีกแบบหนึ่งซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นและสัมผัส ผมเฝ้าสังเกตการจัดกิจกรรมจิตศึกษาในรูปแบบรำกระบอง รวมไปถึงทักษะการพูดการสื่อสารกับเด็กนักเรียน การมีปฎิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน การทำจิตศึกษารำกระบองเป็นสิ่งที่น่าสนใจและเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับผม ผมจะพยายามศึกษาการจัดกิจกรรมจิตศึกษาในรูปแบบรำกระบอง เป้าหมายของผมคือการได้ลองสอนจิตศึกษารำกระบองให้กับพี่ๆม.๒ ซึ่งเป็นระดับชั้นที่ผมได้ดูแล
การ PLC ของครูระดับชั้นมัธยมในทุกๆวันพุธ ในสัปดาห์นี้ได้มีโอกาสทำเครื่องมือคิด เกี่ยวกับ โจทย์ที่ว่า ทักษะชีวิตคืออะไร มีอะไรบ้าง เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดทักษะนี้ได้อย่างไร กิจกรรมใดได้บ้าง? กิจกรรมนี้ทำให้ผมมีความเข้าใจระบบการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนมากยิ่งขึ้น คือจะเน้นให้เด็กได้ศึกษาเกี่ยวกับวิชา PBL มากยิ่งขึ้นแต่เด็กจะต้องได้ทักษะชีวิต ควบคู่กับการเรียนรู้ครั้งนั้นๆไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากที่เด็กจะได้ความรู้นั้นติดตัวไปจริงๆ
การตั้งคำถามกระตุ้นความคิด ได้มีโอกาสสังเกตครูน้ำผึ้งในการตั้งคำถามกระตุ้นความคิดให้กับนักเรียนหลังจากที่ได้อ่านวรรณกรรมเสร็จแล้ว ในสัปดาห์นี้ต้องขอขอบพระคุณครูน้ำผึ้งเป็นอย่างมากที่ช่วยในการตั้งคำถามกระตุ้นความคิดให้กับพี่ๆม.๒ เพราะเป็นคาบแรกของการอ่านวรรณกรรม ได้ครูน้ำผึ้งเป็นแบบอย่างที่ดีในการตั้งคำถามกระตุ้นความคิด ผมจะพยายามนำความรู้ที่ได้จากการสังเกตไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เรียนรู้ขั้นตอนการทำพิธีชาสำหรับพี่ๆมัธยม ตั้งแต่กระบวนการขออาสาประจำห้องเพื่อมาเตรียมชาให้กับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆตลอดจนการบริการเพื่อนในห้อง แต่ในสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แรกของการทำพิธีชา จึงทำให้มีปัญหาด้านเวลา แต่เด็กๆก็ได้เรียนรู้จากการผิดพลาด และผมเชื่อว่าในสัปดาห์ต่อๆไปปัญหาด้านเวลาของการเตรียมชาให้กับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆจะลดและหายไปในที่สุด
ความงอกงามในสัดาห์นี้คือ ผมได้สอนพี่ๆม.๒ในเรื่องการอ่านวรรณกรรมเรื่องลูกอีสาน ตอนหมู่บ้านเริ่มร้าง สิ่งที่ผมภูมิใจคือ การได้นำเพลงแหล่อีสานมาให้พี่ๆม.๒ ได้รับฟัง ซึ่งพี่ๆม.๒ก็ให้ความสนใจและตื่นเต้นกับเพลงแหล่อีสานเป็นอย่างมากเพราะเป็นสิ่งที่ได้ค่อยได้ยินเท่าไหร่ รวมถึงการจัดกิจกรรม "หาคำตามบ้าน" เป็นกิจกรรมชงเข้ากับหลักภาษาเรื่องคำไทยแท้ กิจกรรมนี้พี่ๆม.๒ สนุกสนานมากจากการตามหาคำจากคำใบ้ที่กำหนดให้ เห็นถึงความสามัคคีของแต่ละกลุ่ม นับว่าเป็นกิจกรรมแรกที่จัดการเรียนรู้ให้พี่ๆม.๒แล้วรู้สึกว่าตัวเองทำได้ดี
แต่สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับตัวผมเองในสัปดาห์นี้คือ ผมจะมีปัญหาเรื่องการตั้งคำถามกระตุ้นความคิด เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ลองฝึกตั้งคำถามกระตุ้นความคิด ซึ่งก็ยังทำออกมาไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็ขอขอบพระคุณครูน้ำผึ้งที่มาช่วยเสริมใการตั้งคำถามกระตุ้นความคิด รวมถึงการตั้งคำถามเพื่อชงให้เข้ากับหลักภาษาคำไทยแท้ หลังจากที่เล่นเกมหาคำตามบ้านเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผมเลยทีเดียว เพราะผมลองชงเพื่อเข้าหลักภาษาคำไทยแท้แล้วแต่เด็กนักเรียนก็ยังเข้าไม่ถึง ยังไม่เข้าใจว่าคำ คำนี้คือคำไทยแท้ พี่ๆม.๒ ส่วนใหญ่ไม่รู้จักคำไทยแท้ บ้างก็ตอบว่า คำนาม คำกริยา บ้างก็ตอบเ็นหมวดครอบครัว หมวดของใช้ ซึ่งไม่ตรงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้ และก็ต้องขอขอบพระคุณครูน้ำผึ้งที่มาช่วยชงเพื่อให้เข้ากับหลักภาษาคำไทยแท้ โดยครูน้ำผึ้งให้ผมช่วยเตรียมคำสามคำ คือคำว่า หมู คอมพิวเตอร์ หมากม่วง แล้วครูน้ำผึ้งก็ตั้งคำถามกระตุ้นความคิดให้กับพี่ๆม.๒ จนสามารถเข้าถึงหลักภาษาาคำไทยแท้ได้สำเร็จ แต่อาจจะใช้เวลานานสักหน่อย เดิมอาจจะเป็นเพราะเด็กไม่เข้าใจเรื่องคำไทยแท้ อาจจะติดที่คำนาม สรรพนาม กริยา ก็เป็นได้ แต่ผมก็สามารถผ่านจุดๆนั้นมาได้พร้อมกับได้ประสบการณ์จากการแก้ไขปัญหาต่างๆในการจัดการเรียนรู้
"คนเราเรียนรู้จากคำว่าไม่รู้"
แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้รายวิชา
ภาษาไทย
ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่
๒
Quarter 1 ปีการศึกษา ๒๕๕๙ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา
เป้าหมายรายสัปดาห์ : เข้าใจวิถีชีวิตของคนอีสาน
เห็นความสัมพันธ์ของคนอีสานกับธรรมชาติ และสามารถแต่งประโยคโดยใช้คำไทยแท้ สามารถวิเคราะห์
อธิบายหลักการใช้คำไทยแท้
มีนิสัยรักการอ่าน ตระหนักและเห็นความสำคัญ บอกข้อคิดของเรื่องและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
Week
|
Input
|
Process
|
Output
|
Outcome
|
๒
๒๓ – ๒๗
พ.ค.
๒๕๕๙
|
วรรณกรรมเรื่อง : หนังสือลูกอีสาน ตอน
หาอาหารหน้าแล้ง
หลักภาษา
:
- คำไทยแท้
- แต่งประโยคคำไทยแท้
Key Questions :
- อาหารอีสานเป็นอย่างไร?
- หมากขาม
กลายเป็น มะขาม เกิดขึ้นได้อย่างไร?
-นักเรียนคิดว่า ประโยคเกิดขึ้นได้อย่างไร?
-
นักเรียนคิดว่า จะปรับแต่งตอนจบเรื่อง ลูกอีสาน ตอนอาหารหน้าแล้งใหม่ได้อย่างไร?
เครื่องมือคิด :
- Show and Share
การนำเสนอชิ้นงาน
เกี่ยวกับเรื่องที่ศึกษา
- Flow
Chart
การนำเสนอข้อมูลที่สืบค้นในรูปแบบชาร์ตข้อมูล
- Brainstorms
การระดมสมอง การเล่นเกม
หาคำตามบ้าน
สื่อและแหล่งเรียนรู้
- ห้องเรียน
- หนังสือลูกอีสาน
- บัตรคำ
|
วันพุธ
ชง : นักเรียนอ่านวรรณกรรมโดยการอ่านในใจ
เชื่อม :
ครูตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านโดยให้สอดรับกับพฤติกรรมสมอง ดังนี้
จำ : ให้นักเรียนเรียงลำดับเหตุการณ์ของเรื่อง,บอกชื่อตัวละคร,
เข้าใจ : นักเรียนช่วยกันสรุปเนื้อเรื่องหรือข้อคิดที่ได้จากเรื่อง
วิเคราะห์/สังเคราะห์ :
นักเรียนช่วยกันวิเคราะห์/สังเคราะห์เหตุการณ์
ลักษณะนิสัยของตัวละครแต่ละตัว ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
นำไปใช้ :
นักเรียนเทียบเคียงเรื่องราวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวรรณกรรมที่อ่านกับเหตุการณ์ปัจจุบัน
ประเมินค่า : นักเรียนคิดว่า
การกระทำของตัวละครเหมาะสมหรือไม่
เหตุการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไร
สร้างสรรค์ : นักเรียนแต่ละคนสรุปความเข้าใจจากเรื่องราวในรูปแบบต่างๆ(แต่งเรื่องใหม่,แต่งตอนจบใหม่,วาดภาพประกอบฉาก,การ์ตูนช่อง,ชาร์ตภาพ ฯลฯ)
ชง : ครูใช้คำถามกระตุ้นการคิด “นักเรียนคิดว่า จะปรับแต่งตอนจบเรื่อง ลูกอีสาน
ตอนอาหารหน้าแล้งใหม่ได้อย่างไร?”
เชื่อม : นักเรียนแต่ละคนแต่งเรื่องลูกอีสาน ตอน อาหารหน้าแล้งใหม่
-นักเรียนนำเสนอและอภิปรายร่วมกัน
วันพฤหัสบดี
ชง : ครูใช้คำถามกระตุ้นการคิด “นักเรียนคิดว่า คำว่าหมากขามกลายเป็นมะขามได้อย่างไร?
เชื่อม : นักเรียนอภิปรายร่วมกัน
ชง : นักเรียนจับฉลากแบ่งกลุ่ม เล่นเกม หาคำตามบ้าน
เชื่อม : นักเรียนร่วมกันเล่นเกม
- นักเรียนร่วมกันสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเล่นเกมในรูปแบบชาร์ตข้อมูลและอภิปรายร่วมกัน
วันศุกร์
ชง : ครูใช้คำถามกระตุ้นการคิด “นักเรียนคิดว่า ประโยคเกิดขึ้นได้อย่างไร?
เชื่อม : นักเรียนแต่ละคนร่วมแสดงความคิดเห็น
-นักเรียนแต่งประโยคคำไทยแท้
-นักเรียนแต่ละคนนำเสนอร่วมแสดงความคิดเห็นและอภิปรายร่วมกัน
ชง : ครูให้นักเรียนเลือกประโยคที่มีความหมายต่อตนเองจากที่แต่งมา
๑ ประโยค และวาดภาพสื่อความหมายแทนคำ
เชื่อม : นักเรียนแต่ละคนสร้างสรรค์ชิ้นงานในรูปแบบวาดภาพแทนคำ
-นักเรียนร่วมกันแลกเปลี่ยนและนำเสนอชิ้นงานของตนเอง
|
ภาระงาน
- การอ่านหนังสือลูกอีสาน ตอน
หาอาหารหน้าแล้ง
- การพูดและเขียนเพื่อบอกความรู้สึกของตนเองต่อตัวละคร
เหตุการณ์ที่ชอบในหนังสือ
ลูกอีสาน ตอน หาอาหารหน้าแล้ง
- การพูดอธิบายลักษณะตัวละคร
เหตุการณ์ แสดงความคิดเห็นและตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน
- การบอกข้อคิดจากเรื่องที่อ่านได้และสามารถนำข้อคิดไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
- การแต่งเรื่องลูกอีสาน ตอน
หาอาหารหน้าแล้ง ใหม่
- การจำแนกคำไทยแท้จากประโยค
- การเล่นเกม
หาคำตามบ้านนำเสนอสิ่งที่ได้เรียนรู้ในรูปแบบชาร์ตข้อมูลและอภิปรายร่วมกัน
- การแต่งประโยคคำไทยแท้
- การวาดภาพแทนคำ
ชิ้นงาน
- แต่งเรื่องใหม่
- แต่งประโยค
- วาดภาพแทนคำ
|
ความรู้ : เข้าใจวิถีชีวิตของคนอีสาน
เห็นความสัมพันธ์ของคนอีสานกับธรรมชาติ และสามารถแต่งประโยคโดยใช้คำไทยแท้ สามารถวิเคราะห์
อธิบายหลักการใช้คำไทยแท้
มีนิสัยรักการอ่าน ตระหนักและเห็นความสำคัญ บอกข้อคิดของเรื่องและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
ทักษะ :
ทักษะการสื่อสาร
- อธิบายสิ่งที่ตนเอง/กลุ่มวางแผนและจัดทำชิ้นงานได้อย่างมีเหตุผลและน่าสนใจพร้อมนำเสนอด้วยการเล่าหรือเขียนบันทึกได้
ทักษะการคิด
- การคิดวิเคราะห์สิ่งที่ได้เรียนรู้
-
การคิดเชื่อมโยงเรื่องที่อ่านกับชีวิตประจำวันของตนเองได้
-การคิดแก้ไขปัญหาจากการทำกิจกรรม
-
การคิดสร้างสรรค์จากการออกแบบสร้างสรรค์ชิ้นงาน
ทักษะการเรียนรู้
- การวางแผนทำชิ้นงานสอดคล้องของเนื้อหาและ
กิจกรรมที่ได้เรียนรู้
- มีความกระตือรือร้นและลงมือทำสิ่งที่ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง
คุณลักษณะ :
- เคารพ สิทธิ หน้าที่
เห็นคุณค่าและเชื่อมโยงความคิดเห็นของตนเองและผู้อื่นอย่างไม่มีอคติ
- ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
- มีความรับผิดชอบ
กระตือรือร้นในการทำงาน
- คิดสร้างสรรค์ชิ้นงาน
- มีมารยาทในการฟังและการพูด
|
บันทึกหลังการเรียนรู้
สัปดาห์นี้พี่ๆ
ม.๒ และคุณครูได้ร่วมกันจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในรายวิชาภาษาไทยคือ
ในวันพุธคาบแรกของสัปดาห์ พี่ๆม.๒ ได้ใคร่ครวญอยู่กับการอ่านวรรณกรรม
เรื่อง ลูกอีสาน ตอน หมู่บ้านเริ่มร้าง แต่ก่อนที่พี่ๆม.๒ จะได้อ่านวรรณกรรมครูมีบทเพลงแหล่อีสาน “ฝนบ่มาปลาหนีน้ำ”
ให้กับพี่ๆได้รับฟัง
นักเรียนให้ความสนใจและตั้งใจฟังเป็นอย่างมากเพราะในเนื้อเพลงแหล่เป็นภาษาถิ่นอีสาน
หลังจากฟังแหล่อีสานจบ ครูใช้คำถามกระตุ้นการคิด “นักเรียนรู้สึกอย่างไร?”
, “แหล่อีสานนี้ต้องการจะสื่ออะไร?” มีนักเรียนส่วนใหญ่ที่ฟังภาษาถิ่นอีสานไม่ออกแต่ก็สามารถจับใจความได้ว่าบทเพลงแหล่นี้ต้องการจะสื่อถึงอะไร
พี่เพลง “แปลได้เป็นบางคำครับ เพราะไม่เคยได้ยินมาก่อน คำบางคำฟังไม่ออก” ,พี่ออสติน “เป็นภาษาอีสานที่ไม่เคยได้ยิน”
,พี่อังอัง “จับใจความได้เป็นบางตอนค่ะ
เพราะเขาสะอื้นด้วยจึงทำให้ฟังยากขึ้น” มีพี่ติและพี่ซินดี้ที่ฟังรู้เรื่องและสามารถสรุปใจความสำคัญของแหล่อีสานได้
ครูจึงให้พี่ติและพี่ซินดี้ช่วยแชร์ให้เพื่อนๆฟังว่าในเพลงแหล่อีสานมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร
พี่ๆม.๒ ก็สามารถช่วยกันแสดงความคิดเห็นต่อบทเพลงแหล่อีสานจนทุกคนสามารถเข้าใจตรงกัน
จากนั้นครูให้พี่ๆม.๒
อ่านวรรณกรรม เรื่อง ลูกอีสาน ตอนหมู่บ้านเริ่มร้าง โดยการอ่านในใจ
หลังจากที่พี่ๆม.๒ อ่านเสร็จ ครูใช้คำถามกระตุ้นการคิด “นักเรียนรู้สึกอย่างไร?” พี่บอล “รู้สึกเห็นถึงความลำบากของคนอีสาน”
, พี่ปังปอนด์ “รู้สึกเห็นถึงวิถีการเป็นอยู่ของคนอีสาน”
, พี่ปุณ “เห็นถึงการเหยียดผู้อื่น”
จากนั้นครูถามต่ออีกว่า “มีตัวละครใดบ้าง?” พี่ติ “ตัวละครมีคูณ พ่อ แม่” , พี่ไอดิน “ยี่สุ่นกับบุญหลาย”, พี่เพชร “ปู่ของคูณ และคนแกว”
ครูถามต่ออีกว่า “ในเรื่องเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง ?” พี่เพลง “เรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวของคูณ”
,พี่อังอัง “ความแห้งแล้งของภาคอีสาน” , พี่มายด์ “พ่อเล่าเรื่องปู่ให้คูณฟังเกี่ยวกับคนแกว”
จากนั้นคุณครูได้ให้พี่ๆม.๒ สรุปความเข้าใจจากการอ่านเรื่อง ลูกอีสาน ตอนหมู่บ้านเริ่มร้าง ว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร
ในรูปแบบชาร์ตภาพสื่อความหมาย ต่อมาวันพฤหัสบดีครูได้จัดกิจกรรมเล่นเกม
หาคำตามบ้าน
โดยให้พี่ๆแบ่งกลุ่มตามหาคำจากคำใบ้ที่กำหนดให้ พี่ๆม.๒ มีสนุกสนานกับการเล่นเกมเป็นอย่างมาก
หลังจากที่พี่ๆหาคำตามบ้านเสร็จแล้ว ทุกคนได้มาร่วมกันแชร์ว่ากลุ่มของตนเองได้คำว่าอะไรบ้าง
จากนั้นครูลองให้นักเรียนจัดหมวดหมู่คำ ส่วนใหญ่นักเรียนจัดหมวดหมู่คำได้ว่า
หมวดหมู่ครอบครัว ของใช้ คำนาม คำกริยา
ซึ่งไม่มีกลุ่มไหนจัดตามหมวดหมู่คำไทยแท้หรือคำที่มาจากภาษาต่างประเทศเลย
ในวันศุกร์ครูจึงทำใบคำสามคำ นั้นคือคำว่า หมู คอมพิวเตอร์ และหมากม่วง ใช้คำถามกระตุ้นการคิดว่า
“พี่ๆเห็นอะไรบ้างจากสามคำนี้?” พี่เพลง
“เห็นคำไทย คำที่มาจากภาษาต่างประเทศ และคำภาษาถิ่นครับ”
พี่นัท “เห็นคำที่มีความหมายในตัวของมันเอง” , พี่อังอัง “เห็นคำพยางค์เดียว” ครูจึงถามต่อว่า “คำไทยหมายถึงอะไร?” พี่ปังปอนด์ “คำที่พูดในประเทศไทย” , พี่นัท “คำที่คนไทยเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้น” พี่ออสติน “เป็นคำไทยแท้ครับ” จากนั้นครูจึงให้โจทย์กับนักเรียนว่า
“ให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับคำไทยแท้
ว่าคำไทยแท้มีคุณสมบัติใดบ้าง?”
และสรุปความเข้าใจในรูปแบบชาร์ตข้อมูล และให้โจทย์ต่อไปอีกว่า “เราจะนำคำไทยแท้มาใช้แต่งประโยค เราจะสามารถนำมาใช้ได้อย่างไร”
ประมวลภาพกิจกรรม
กลุ่มอาสาเตรียมชาให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในสัปดาห์แรก
พี่ๆกินชาอย่างมีสติรู้ตัว
กิจกรรม หาคำตามบ้าน เห็นถึงทักษะการแก้ปัญหาของเด็กๆได้เป็นอย่างดี
ปฐมนิเทศผู้ปกครอง
ชุมนุมอาหารเพื่อสุขภาพกำลังช่วยกันคิดเมนูเพื่อสุขภาพ
ตัวอย่างชิ้นงาน การสรุปความเข้าใจจากการอ่านวรรณกรรมเรื่อง ลูกอีสาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น